ประมาณสองสัปดาห์ที่แล้วผมได้ตามหลานสาวไปเที่ยวบ้านเพื่อนของเธอทางจังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งของภาคตะวันออก ก่อนออกเดินทางเรารู้ดีอยู่แล้วว่าพ่อของเพื่อนหลานสาว ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดนั้นกำลังลงสมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้ตัวลูกสาวจะต้องคร่ำเคร่ง อดตาหลับขับตานอน เอาใจช่วยพ่อเต็มที่เพื่อชิงชัยในสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรก หลังจากที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในระดับ ส.จ. มานานนับสิบๆ ปี
แม้จะเป็นการไปเที่ยวเพื่อเยี่ยมเยียนสอบถามสารทุกข์สุกดิบและได้ไปเที่ยวบ้านของเพื่อนหลานสาวคนนี้เป็นครั้งแรก แต่เจ้าภาพก็ต้อนรับขับสู้อย่างเต็มที่ อุตส่าห์แบ่งเวลาของการช่วยบุพการีหาเสียงและบริหารจัดการต่างๆ มาร่วมวงข้าว (และวงน้ำเมาในยามดึกดื่น) ช่วยจัดหาที่หลับที่นอนที่สะดวกสบายให้กับผู้ที่ไปเยือน สร้างความประทับใจให้กับพวกเราที่เดินทางคณะเดียวกันทุกคน
เราไม่ปฏิเสธว่าอดที่จะมีใจโอนเอียงและอยากเอาใจช่วยสนับสนุนให้พ่อของเธอได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ และพลอยได้รับรู้รับเห็นกระบวนการ "หาเสียง" ที่กำลังเกิดขึ้นและที่เป็นอยู่เป็นไปอย่างช่วยไม่ได้
คืนวันหนึ่งเมื่อปลดปล่อยปล่อยวางจากภาระของการเป็นผู้ประสานหลักให้กับพ่อที่ศูนย์ประสานงานเลือกตั้งของพรรค (ซึ่งก็คือตัวบ้านของเธอในอำเภอ) เราตั้งวงพูดคุยสอบถามถึงการเลือกตั้ง ตอนแรกตั้งใจว่าจะถามเรื่องทั่วๆ ไป แต่แล้วก็พลอยได้รับรู้ถึงบรรยากาศของการแข่งขันระหว่างผู้สมัครต่างพรรค ไปจนกระทั่งถึงกลไกในการหาเสียง การใช้เงินในการติดตั้งป้ายหาเสียง การจ้างรถออกไปวิ่งป่าวประกาศ ราคาค่าพิมพ์ใบปลิวและใบโฆษณาต่างๆ การจ่ายเงินให้กับคนไปเดินแจกใบปลิวแต่ละวันๆ ซึ่งพอๆ หรือแพงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แม้จะรู้ว่ามีเงินอุดหนุนมาจากทางพรรค และมีการกำหนดการใช้เงินเอาไว้จากคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ตาม แต่เจ้าตัวที่เกี่ยวข้องเองตรงๆ ก็ยังยอมรับว่าที่กำหนดเอาไว้ว่าไม่ให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งใช้เงินหาเสียงในทุกกิจกรรมและกระบวนการต่างๆ ไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาทนั้น มองยังไงก็ไม่น่าจะพอ
อันนี้ยังไม่รวมถึง เงินที่แต่ละฝ่ายใช้ในการแจกจ่ายให้กับหัวคะแนนเพื่อไปแบ่งปันและแจกจ่ายต่อ เพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่าจะมีคะแนนเป็นต่ออีกฝ่ายหนึ่งในวันลงคะแนนอย่างแน่นอน ซึ่งแม้แต่เด็กอมมือก็ยังไม่เชื่อว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งจะไม่มีการจ่ายเงินซื้อสิทธิขายเสียง เพียงแต่จับได้ไม่มั่นคั้นไม่ตาย ไม่โดนใบเหลืองใบแดงก็ต้องปล่อยๆ ให้เกิดขึ้นต่อไป
บรรยากาศและความเป็นจริงของการเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบสภาบ้านเราที่เกิดขึ้น จึงไม่ต่างจาก "สมรภูมิ" "ศึกสงคราม" และการยื้อแย่งแข่งขัน แข่งกันมากๆ ใช้เงินมากๆ โยนขี้โยนบาปให้กับอีกฝ่ายหนึ่งราวกับชาตินี้เกิดมาเป็นศัตรูกัน แต่แล้วพอได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็น ส.ส. แล้วก็ไปปรองดองประสานประโยชน์กันใหม่ หาทาง "ถอนทุน" ที่ลงไปจากการเลือกตั้งเข้าพกเข้าห่อและเครือข่ายเพื่อนพ้องของตัวเองกันต่อไป ดุจ "วงจรอุบาทว์" ที่มีคนเปรียบเทียบเปรียบเปรยการเมืองของไทยเอาไว้
ในวงสนทนากลางค่ำกลางคืนอันเงียบสงบของรีสอร์ตแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกที่ผมนั่งร่วมวงอยู่ด้วย มีพวกเราที่อายุอานามสามสิบกว่าๆ อย่างไรเสียก็ไม่เกินสี่สิบต้นๆ บังเอิญว่าในวงมีเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นหลานสาวของเพื่อนหลานผมอีกทีในวัย 10 - 11 ปี นั่งอดตาหลับขับตานอน ตากน้ำค้างหาวหวอดๆ นั่งฟังบรรดาน้าๆ ป้าๆ ลุงๆ พูดคุยกันถึงเรื่องการบ้านการเมืองอยู่ด้วย
เรามาถึงบทสรุปกันที่ว่า บรรยากาศการเลือกตั้งที่ต่อสู้แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งการใช้เงินมากมายและการสร้างความแบ่งแยกแตกต่างอย่างกับสงครามเช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นที่มาของการจัดการบ้านเมืองของเราให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมและสงบน่าอยู่ได้ เพราะเราจะเชื่อมั่น "สันติภาพ" และ "สันติสุข" ที่เกิดจากน้ำมือและน้ำเงินของบรรดาโจรหรือผู้กระหายสงครามที่กำลังอาสาเข้าไปเป็นตัวแทนประชาชนในระบบรัฐสภาได้อย่างไร
แต่จริงๆ แล้วควรจะมีหนทางของการเรียนรู้และเข้าถึงประชาธิปไตยหรือระบบตัวแทน เพื่อให้การเมืองของบ้านเราดำเนินไปได้ดีและดูมีความหวังกว่าที่เป็นอยู่ เรื่องระบบการศึกษาและการปลูกฝังแนวคิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับเด็กๆ ในวัยเรียนก็น่าจะเป็นคำตอบหนึ่ง
ในค่ำคืนนั้นลมพัดแรง แต่ไร้แสงดาว ในหัวใจของผมและทุกคนในวงนั้นรู้ดีว่าเราไม่อาจหวังได้กับความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแม้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งนี้หรือครั้งต่อๆ ไปข้างหน้า แต่เราก็ยังอดที่จะหวังไม่ได้ว่าจะมีสักคืนที่ฟ้ามืดๆ ของการเมืองไทยจะผลิแสงดาวแห่งความหวัง...
ไม่รู้ว่าสงคราแบบนี้..ใครเป็นคนก่อ ริเริ่ม..และอีกนานไหม จะหมดไปจากประเทศไทย...
ตอบลบ