วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

เพื่อนผมเป็นลาว

เสาร์ที่ผ่านมาแม้ฟ้าจะร้องฝนจะเทลงมาอย่างกับฟ้ารั่ว แต่ผมก็มีนัดกับเพื่อน ต้องออกไปเจอเพื่อนและเพื่อนผมที่ว่า เป็นคนลาว...

หลายปีก่อนสักประมาณปี 2540 - 2542 ผมยังทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อมให้หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งอยู่ในตอนนั้น ผมได้ข่าวว่าจะมีการจัดประชาพิจารณ์โครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 บนที่ราบนากาย ตอนกลางของลาวที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยและบ้านของธรรมชาติและสัตว์ป่า การประชาพิจารณ์ครั้งนั้นจัดขึ้นที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของ สปปล. ในกรุงเวียงจันทน์ ผมจึงได้ออกเดินทางไปอย่างเดียวดายด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่หนองคายเพื่อข้ามฝั่งไปรายงานข่าวนี้

ในตอนนั้นการข้ามฝั่งเข้าสู่ดินแดน สปป.ลาวนั้นมิได้ง่ายดายแค่การถือหนังสือเดินทางหรือไปขอใบอนุญาตข้ามแดนหรือ Border Pass แค่ชั่วเวลาไม่นานเอาที่ด่านฝั่งโน้นโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากมายเหมือนทุกวันนี้ นอกจากอาจจะต้องทำวีซ่าหรือขอใบ Border Pass กันล่วงหน้าแล้วยังจะต้องมี "คนลาว" เป็นคนเซ็นหนังสือรับรองให้เราอีกด้วย

ผมลงจากรถไฟในตอนเช้าตรู่วันนั้นแล้วจัดการพาตัวเองไปทำเรื่อง Border Pass กับตัวแทนที่ทำหน้าที่จัดการเรื่องนี้ให้ทางฝั่งบ้านเราด้วยค่าใช้จ่ายหลายร้อยบาท แต่แล้วเมื่อข้ามฝั่งไปถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ผมจึงได้พบความกลัดกลุ้มใหม่คือการที่จะต้องมีคนลาวเซ็นรับรองให้เดินทางเข้าเวียงจันทน์ต่อไปได้ในฐานะนักท่องเที่ยว (ผมคงเปิดเผยตัวเองไม่ได้หรอกครับว่าจะมาทำข่าวสิ่งแวดล้อม)

ผมได้รับความเอื้ออารีจากหนุ่มลาวคนหนึ่งชื่อว่าต้อ ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟขบวนเดียวกันกับผม ผมเองพอจะคุ้นหน้าคุ้นตาเขาอยู่ แต่ไม่ได้ทักทายหรือเอ่ยปากพูดคุยอะไรกันมาก่อน จนเมื่อผมพบปัญหาที่ว่า ต้อเป็นคนที่หยิบยื่นความช่วยเหลือช่วยเซ็นหนังสือรับรอง และยังเอ่ยชวนให้ผมติดรถที่มารับเขาเข้าไปในตัวเมืองเวียงจันทน์ที่อยู่ห่างจากด่านสะพานร่วมๆ 30 กิโลเมตรด้วยกัน

ในช่วงสองสามวันของการทำงานในประเด็นที่อ่อนไหวและมีเนื้อหาค่อนข้างหนักหน่วงในเวียงจันทน์ ผมมีโอกาสได้ไปกินข้าวที่บ้านของต้อ ซึ่งเขาอาศัยอยู่กับพ่อตาแม่ยายและภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นาน เป็นโอกาสดีที่ผมได้ไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่และได้สัมผัส "คนลาว" ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

แล้วเวลาก็ผ่านมาเป็นสิบๆ ปี แม้ไม่ได้ตั้งใจแต่ผมก็ไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนคนนี้อีก เพราะไม่ได้มีโอกาสไปเวียงจันทน์นานๆ เป็นเรื่องเป็นราว ที่อยู่ของเพื่อนหรือเบอร์โทรในเวียงจันทน์หรือก็ไม่ได้เก็บเอาไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้กลับไปเวียงจันทน์เพื่อทำงานบางอย่าง (ซึ่งไม่ใช่การไปเป็นนักข่าว) ถึงสิบวัน ผมก็เกิดความคิดว่าน่าจะไปตามหาหรือถามหาเพื่อนคนนี้ดูสักหน่อย เพราะผมจำได้คร่าวๆ ว่าเขาทำงานอยู่ที่สำนักงาน อย. ของลาวและภรรยาของเขาเป็นแม่ค้าขายผ้าซิ่นอยู่ตลาดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ชานเมืองเวียงจันทน์ก่อนจะออกไปทางด่านสะพาน

วันหนึ่งหลังจากเสร็จธุระการงานอันไม่เร่งรัด ผมก็เดินเข้าไปสอบถามหาเพื่อนที่ อย. เวียงจันทน์ โดยถามหาคนชื่อนี้ (ผมจำได้แค่ชื่อจริงและชื่อเล่นของเพื่อน) ปรากฏว่าได้คำตอบว่าไม่มีคนชื่อนี้ แต่ก็ยังดีที่เจ้าหน้าที่ที่ผมไปติดต่ออีกคนเกิดจำขึ้นมาได้ว่า "ท้าว..." ชื่อนี้คนนี้ได้ย้ายไปประจำอยู่อีกหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน ผมจึงได้ฝากรายละเอียดติดต่อผมไว้ให้ และขอให้ช่วยติดต่อเพื่อนคนนี้ด้วยว่าผมมาทำงานที่เวียงจันทน์และถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะได้พบกันอีก

ต้อติดต่อกลับมาในเย็นวันนั้นพร้อมกับมาเจอผมหลังจากเลิกงาน ระยะเวลานานที่ไม่ได้เจอกันทำให้เพื่อนแปลกใจไม่น้อยที่จู่ๆ เรามีโอกาสได้พบกันอีก ตอนนี้เขาดูมีอายุขึ้น อ้วนขึ้น มีฐานะดีขึ้น ทั้งหน้าที่การงานและธุรกิจส่วนตัวที่ทำ ซึ่งตอนนี้ขยับขยายมาเปิดร้านขายยาในตลาดที่เดิมที่ภรรยาเขาเคยขายผ้าซิ่นเป็นคนดูแล และตอนนี้เขามีลูกสาวถึง 3 คนแล้ว และใช้ชีวิตในบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่โต

แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับเพื่อนคนลาวผมคนนี้ก็คือการงานและชีวิตที่ยุ่งยากมากขึ้น แม้ว่าจะมีบ้านหลังโต ธุรกิจที่ทำอยู่จะเป็นไปได้ดี ได้เดินทางไปต่างประเทศอย่างเกาหลีเพราะร้านขายยาทำยอดได้ดี แต่ก็มีความเครียดและหน้าตาที่ดูโรยแรง มีเรื่องกลัดกลุ้ม ให้คิดมากมาย

ผมได้แต่ฟังเขาเล่าเรื่องราวถึงความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาหลายๆ ปีที่เราไม่ได้ติดต่อกัน...

หลายเดือนต่อมาในวันที่ฝนฟ้าตกหนักก็เป็นวันที่นัดหมายของผมกับเพื่อนคนนี้ที่เขาโทรฯ มาบอกล่วงหน้าแล้วว่าจะเข้ามากรุงเทพฯ และพาญาติผู้น้องอีกคนเข้ามาดูที่เรียนต่อเพื่อเป็นช่างทำผม ทำให้นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ผมจะได้มีโอกาสพบกับเพื่อนที่เมืองไทยและที่กรุงเทพฯ บ้าง

เพื่อนผมเปิดโรงแรมพักย่านสีลมเอาตามสะดวกเพราะเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเลือกพักย่านไหนดี เมื่อเราได้เจอกัน ผมก็ชักชวนเขาว่าอยากจะพาเขาไปเลี้ยงข้าวสักมื้อ หรือหาที่นั่งจิบอะไรพูดคุยกันไป จากถนนสุรวงศ์ที่เขาพักเราพากันเดินลัดเลาะผ่านย่านพัฒน์พงษ์ที่เต็มไปด้วยบาร์และอะโกโก้คลับ มีคนมากมายเดินมากวักมือเรียกร้องให้เราเข้าไปนั่งดื่มในนั้น ทั้งๆ ตอนนั้นยังเป็นเวลาหัวค่ำอยู่ กว่าจะผ่านตรอกซอกซอยแถวนั้นมาได้ในหัวของผมก็เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบระหว่าง "ความบันเทิง" "แสงสี" เรื่องราวแบบนี้ระหว่างเมืองไทยกับเมืองลาว ผมรู้สึกหน้าชานิดๆ เมื่อสิ่งที่เห็นและแสงสีมากมายของบ้านเรา ดูเหมือนเป็นความปกติธรรมดาไปเสียแล้ว แม้ว่าเพื่อนจะไม่ได้เอ่ยปากถามหรือพูดถึงเรื่องนี้เลย

พอนั่งกินข้าวในร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในซอยคอนแวนต์ เพื่อนผมซึ่งมีหน้าตาคลายความเศร้าหมองหรือกลัดกลุ้มน้อยลงกว่าเมื่อตอนที่เจอกันในเวียงจันทน์คราวก่อนเล่าว่า ตอนนี้เขาเองก็ยังต้องพึ่งการกินยานอนหลับอยู่ และเมื่อเดินทางห่างจากลูกจากเมียมาสองสามวันเช่นนี้ จากที่เคยกลุ้มเรื่องคิดถึงงานก็กลายมาเป็นเครียดเพราะคิดถึงบ้านคิดถึงลูก ทำให้ไม่มีแก่ใจจะเที่ยวดูอะไรมากกว่าการมาทำธุระเป็นเพื่อนญาติ

เขาถามผมว่าตอนเจอกันคราวก่อน รู้สึกไหมว่าที่เวียงจันทน์ อะไรๆ เปลี่ยนไปเยอะ ซึ่งผมเองก็ตอบเขาไปว่าไม่ค่อยรู้สึกอะไร เพราะความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งอยู่แล้ว ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เขาจึงหยิบยกเรื่องที่คนลาวในวันนี้ยุ่งยากและเอาจริงเอาจังมากขึ้นกับการทำมาหากิน จนเครียดกันมากขึ้น รถราในเวียงจันทน์หรือก็ติดมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

เขาบอกว่าเท่าที่ได้มาเห็น คนกรุงเทพฯ ดูดีและหลายๆ สิ่งที่บ้านเราดูดีกว่าที่เวียงจันทน์ ผมเองแสดงความคิดเห็นกลับไปว่าคนกรุงเทพฯ เองก็เครียดและมีหลายๆ ส่วนที่ไม่ดีไม่น่าอยู่ ผมเองก็ยังเห็นข้อดีของวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติกว่าบ้านเราของเวียงจันทน์ อากาศที่ยังดี ผู้คนส่วนใหญ่ที่มีความเป็นอยู่ที่สบายๆ ไม่เร่งรีบเร่งร้อน

...เพื่อนผมเป็นคนลาวและลาวเองก็เป็นเพื่อนของเรา ไม่ว่าจะโดยโชคชะตาที่ทำให้ผมรู้จักกับคนลาวคนหนึ่งและติดต่อสัมพันธ์เป็นเพื่อนกันมา แต่ความจริงก็คือ ลาวกับไทยนั้นใกล้ชิดกันมากทั้งเรื่องภูมิศาสตร์ พรมแดน ภาษา อาหาร จนยากที่จะแบ่งเขาแบ่งเราหรือยกมาเปรียบเทียบกันว่าใครจะดีหรือดูดีกว่ากันในด้านไหนบ้าง

คงไม่ใช่เรื่องที่จะคิดหรือหมดยุคสมัยแล้วที่เราจะรู้สึกว่าดีกว่าเพื่อนของเราด้วยความคิดแบบยกตนข่มท่าน หรือเปรียบเทียบว่าใครดีกว่าใคร เราดีกว่าเขาเพราะความเจริญทางแสงสีและวัตถุที่มากกว่า การเปิดกว้างทางการติดต่อสื่อสาร เปิดรับแนวคิดต่างๆ โดยเฉพาะการบริโภคนิยมอย่างเสรี ไม่ควรมีใครไม่ว่าเราหรือเขาที่จะคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่เพื่อนแล้วดุ่มเดินไปอย่างเดียวดายโดยไม่สนใจหรือเหลียวมองความสัมพันธ์ที่ผ่านมา หรือใส่ใจอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเพียงพอ

เพราะไม่ว่าอย่างไร ลาวกับไทย ไทยกับลาว ก็จะมีกันเคียงข้างเสมอตราบเท่าที่ยังมีพรมแดนติดกัน ผู้คนยังไปมาหาสู่ พูดคุยภาษาเดียวกันได้โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปล หรือชมชอบที่จะกินส้มตำปูปลาร้า กินข้าวเหนียว ฟังเพลงลูกทุ่งหมอลำเหมือนๆ กัน และมีโอกาสที่จะได้หยิบยื่นน้ำใจและมิตรภาพให้กันได้ด้วยความบังเอิญเหมือนผมกับเพื่อน

...เราจะเป็นเพื่อนกันอย่างเท่าเทียมและพึ่งพา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น