วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

มือของแม่

การกลับบ้านเกิดเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อร่วมงานอุปสมบทของหลานชาย แต่จุดหมายในใจของผมอย่างหนึ่งหรือจะพูดให้ถูกก็คือ ในทุกครั้งที่ได้เดินทางกลับไปบ้านเกิดนั้นคือการได้ไปจับแขนบีบมือ ดูสีหน้าและกอดแม่ ถามแม่ว่าสบายดีไหม ไม่ใช่แค่เพียงการส่งเสียงถามไถ่กันผ่านทางโทรศัพท์เหมือนเคย


ผมเป็นลูกชายคนเล็กที่สนิทกับแม่มาก เพราะผมกับพ่อวัยห่างกันอักโข ที่บ้านเรามีพี่น้องสิบคน แม่คลอดผมตอนอายุ 38 แต่ตอนนั้นพ่ออายุร่วม 50 แล้ว แม่จึงเป็นคนดูแลผมใกล้ชิดมากกว่าพ่อ ให้เงินส่งเสียจากการทำงานเป็นแม่ค้าร้านขายยา อบรมสั่งสอนเท่าที่เวลาของแม่ค้าลูกเยอะเรื่องแยะจะทำได้ คอยแก้ปัญหา หาหยูกยาให้เวลาทุกข์ใจหรือไม่สบาย กระทั่งหาข้าวปลาอาหารแต่ละวันให้ผมและพี่ๆ กิน


ด้วยความผูกพันกับแม่มาก ตอนเด็กๆ ผมเคยคิดว่าเราจะเป็นอย่างไรถ้าเกิดวันใดวันหนึ่งไม่มีแม่ โลกจะไร้ความน่าอยู่หรือความหมายเพียงใดถ้าไม่มีแม่ แต่แล้วพอเติบโตก็กลับกลายเป็นว่าไม่ใช่เราหรอกที่ไม่มีแม่อยู่ข้างกาย เพราะเรานั่นเองเป็นคนเดินจากท่าน มาสู่ระยะทางที่ห่างเหินเพื่อตามหาและใช้ชีวิตของตัวเอง

คุณแม่หนูเพิ่ม ประคำทองในวัน 78 โขกส้มตำให้ลูกชายกิน
มือของแม่ในวัยนี้วันนี้เหี่ยวย่นและหย่อนยานลงไปตามกาลเวลา แต่เมื่อได้สัมผัสก็รู้สึกได้ว่ายังมีพลังดีอยู่ จากการที่ท่านชอบทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะลงมือตำส้มตำทำกับข้าวกินเอง หยิบจับอะไรได้ด้วยตัวเอง ออกกำลังกายและไปวัดไปวา ซึ่งก็นับว่าเป็นบุญที่มือของแม่สื่อว่าท่านมีพลังและกำลังใจในการที่จะอยู่กับโลกและอยู่กับลูกต่อไปนานๆ


ไม่ใช่แค่ผมกับมือของแม่คนเดียวแน่ๆ ที่สื่อสัมผัสกันได้


ผมคิดว่าโลกนี้คงรู้สึกไร้และไม่น่าอยู่หากไม่มีมือของแม่มาป้อนข้าวป้อนนม ลูบสัมผัสถ่ายทอดความรักอันไร้ขอบเขตให้แก่ลูก คอยตบตีสั่งสอนเมื่อเราออกนอกลู่นอกทาง แต่ก็พร้อมจะโอบกอดและให้อภัย ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นการยกให้แม่เป็นใหญ่ในหลายๆ สิ่งที่มนุษย์โลกสร้างทำเป็นวิถี ไม่ว่าจะเป็นคำเรียกขาน แม่น้ำ แม่ทัพ แม่งาน แม่บ้าน แม่ครัว แม่ยก ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีคำว่า "แม่" ที่บ่งบอกว่ามีความสำคัญต่อความคงอยู่ เป็นไป และความปกติสุขของทุกๆ สิ่ง


ผมสังเกตเห็นความเป็นแม่ และเรื่องราวของแม่ที่ผ่านเข้ามาสะดุดความรู้สึกผมอีกครั้งเมื่อนั่งดูละครโทรทัศน์เรื่อง "ดอกส้มสีทอง" ทางไทยทีวีสีช่อง 3 หลายเสียงบอกว่าละครเรื่องนี้แรงและมีเนื้อหาสะท้อนสังคม จากเรื่องราวของเรยา แอร์โฮสเตสสาวที่ดิ้นรนไปให้พ้นจากจุดที่ตัวเองเป็นอยู่ จากการเป็นลูกคนรับใช้และลูกแขกยาม ปีนป่ายตะกายหาความรัก แม้แต่กับผู้ชายที่มีเหย้ามีเรือนแล้วก็ไม่เว้น


ในละครเรื่องเดียวกันเราได้เห็นบทบาทและเรื่องราวของ "แม่" ที่หลากหลายมาก แม่อย่างลำยอง ซึ่งเป็นแค่คนรับใช้ เลี้ยงดูลูกด้วยความรักและความเกรงกลัวจนดูงกๆ เงิ่นๆ ปล่อยให้ลูกอย่างเรยาแหกปากตะคอก เรียกหาให้มารับใช้ได้อย่างเต็มใจ แม่อย่างคุณนายใหญ่ที่รักลูกชายคนเดียวของเธอ แต่ก็คาดหวังถึงการมีทายาท และการที่เขาจะไม่มีเมียน้อยให้เธอเจ็บช้ำน้ำใจอีก เหมือนที่ได้รับจากสามีที่มักมากเมียเยอะ แม่อย่างคุณนายที่สองของเศรษฐีเชงที่รักลูกสาวสองคนซึ่งไม่สนใจไยดีเธอ หนีไปอยู่อเมริกา และเรื่องของแม่อย่างเรยาที่ตั้งใจจะตั้งท้องกับผู้ชายที่เขาไม่ได้รัก เพียงเพราะว่าเธอคิดว่ารักและต้องการเขา


ผมดูละครเรื่องนี้แล้วได้คิดว่า เราจะไม่มีแม่ไม่ได้หรือไม่มีแม่มาก่อน ถ้าหากแม่นั้นไม่ได้เกิดจากสถานะของการเป็น "เมีย" (ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือเป็นเมียเล็กเมียน้อยมาก่อน) และเมื่อเมียเปลี่ยนสถานะมาเป็นแม่ ก็ไม่ใช่แค่เพียงการเติบโตเปลี่ยนผ่านสถานะของผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น แต่มันอาจจะหมายถึงน้ำตาและความอดทน


"ความรักของแม่" ซึ่งดูเหมือนจะไร้ขอบเขตและเงื่อนไขที่จะรักลูก แท้จริงแล้วตัวคนเป็นแม่เองก็ต้องผ่านเรื่องราวหรือบททดสอบในชีวิตมามากมาย ทั้งจากโชคชะตา จากคนที่เป็นสามี จากกรอบทางสังคมและความคาดหวัง (ดังเช่นคำที่คนชอบพูดว่าเป็นแม่แล้วต้องรักลูก ขนาดหมามันยังรักลูกของมันเองเลย)


แต่ไม่ว่าจะตกอยู่ภายใต้กรอบหรือปัญหา ความไม่พร้อมนานาสารพัน แม่ทั้งในละครและแม่ของเราก็พร้อมจะรักและทำทุกอย่างให้ลูกได้ ขอเพียงให้ลูกยิ้มได้ มีความสุข เดินไปบนทางที่ขรุขระของโลกนี้ได้เต็มที่ เวลานั่งลงข้างๆ ลูก ได้บีบมือโอบไหล่กันแล้วสัมผัสได้ถึงสายสัมพันธ์และความรักที่มีต่อกัน


ผมดูละครเรื่องนี้ที่เต็มไปด้วยการชิงรักหักสวาท แต่ก็มองลงไปถึงเรื่องราวความรักของแม่ ซึ่งคงไม่ใช่เนื้อหาหลักที่ละครต้องการจะสื่อ...


แต่ก็ทำให้ผมอยากกลับไปนั่งดูละครข้างๆ แม่ กินส้มตำที่แม่ลงมือคลุกลงมือตำ และบีบมือจับแขน ถามไถ่ทุกข์สุขกันอีกหน









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น