วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

กฤษณะในตัวเรา

ในสมรภูมิและภาวะสงคราม กลยุทธ์และยุทธวิธี การบริหารจัดการกำลังเพื่อห้ำหั่นเอาชัยเหนืออีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ทุกคนยอมรับว่า แม้แต่ในการประหัตประหารเพื่อสร้างสงครามกันนั้น คนเราก็สามารถที่จะสร้างศิลปะและการเรียนรู้ขึ้นมาได้

มีเรื่องเล่าเก่าแก่ปรัมปราอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการทำสงครามที่คลาสสิกระดับเหนือกาลเวลาจากดินแดนชมพูทวีป ซึ่งเก่งกาจในการเล่าขานเรื่องราวอันเป็นตำนานสอนใจ ก็คือเรื่องของพระกฤษณะและอรชุน จากคัมภีร์ภควัตคีตา อันแปลว่า "บทเพลงแห่งพระเป็นเจ้า"

ในภควัตคีตามีเรื่องย่อยๆ อยู่ในนั้นก็คือ "มหาภารตะ" ซึ่งเป็นเรื่องราวความขัดแย้งของพี่น้องที่สืบเชื้อสายเดียวกัน 2 ตระกูลระหว่างตระกูลปาณฑพ กับตระกูลเการพ สองตระกูลมีเหตุขัดแย้งบานปลายนำไปสู่มหาสงครามอันยิ่งใหญ่ ณ ทุ่งกุรุเกษตร เพื่อแย่งชิงราชสมบัติและแย่งกันปกครองแผ่นดิน

มหาภารตะเป็นมหากาพย์เล่าเรื่องราวการสู้รบของศึกร่วมสายเลือดครั้งนี้ โดยมีตัวเอกของมหากาพย์ภารตะคือ เจ้าชายอรชุน เจ้าชายฝ่ายตระกูลปาณฑพ และพระกฤษณะ ซึ่งเป็นปางอวตารของพระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ 

หลักปรัชญาใน ภควัทคีตา ที่ปรากฏอยู่ภายในมหากาพย์มหาภารตะนั้นคือปรัชญาที่เกิดขึ้นจากการสนทนาระหว่าง พระกฤษณะ กับ เจ้าชายอรชุน ในระหว่างการเข้าสู่สนามรบ โดยพระกฤษณะก่อนหน้านั้นเป็น สารถีผู้ขี่ม้า ให้แก่เจ้าชายอรชุน ได้เปิดเผยสถาวะที่แท้จริงของตนในภายหลังให้อรชุนได้ประจักษ์ว่าตนเป็นอวตารของพระวิษณุ และได้แสดงธรรมสอนแก่อรชุน ประกอบไปด้วยความจริงแห่งโลก จักรวาล ธรรมชาติของชีวิต การปฏิบัติตนเป็นโยคี การหลุดพ้นและการเดินทางสู่สภาวะอันเป็นนิรันดร์เพื่อให้อรชุนเต็มใจที่จะห้ำหั่นกระทำศึกสงครามกับตระกูลญาติของตนเอง
(ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://www.siamganesh.com/BhagavadGita.html)

ส่วนที่มีการกล่าวถึงและเรียนรู้มากที่สุดจากเรื่องราวนี้ก็คือ หลักจริยศาสตร์ว่าด้วยธรรมะหรือหน้าที่ของกษัตริย์ คือหน้าที่รบเพื่อทำลายล้างอธรรม และผดุงศีลธรรมโดยไม่หวังผลตอบแทน

ถ้าจะกะเทาะออกมาสู่เปลือกแห่งปุถุชนไว้ตักเตือนบอกสอนใจตัวเองก็คือ คนเราเกิดมามีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมนั้นนำมาสู่การกระทำหรือทำหน้าที่ คนเราควรจะต้องทำหน้าที่ที่ได้รับในการเกิดเป็นคนให้เต็มความสามารถ ทำให้ดีที่สุดโดยไม่ยึดถือว่าการทำงานนั้นจะทำให้เกิดผลตอบแทน ความร่ำรวยหรือคาดหวังซึ่งผลสำเร็จหลังชัยชนะนั้นเพียงอย่างเดียว

แม้ไม่ต้องลงมือทำหรือตกอยู่ในภาวะศึกสงครามจริงๆ ผมก็ยังเชื่อว่าคนเราอยู่ระหว่างทางเลือกของการกระทำกับไม่กระทำเสมอ (เหมือนที่วิลเลียม เชคสเปียร์บอกไว้ในเรื่อง Hamlet ว่า To be, or not to be) ซึ่งเป็นภาวะที่นำมาสู่ความกระอักกระอ่วน หรือ dilemma อย่างหนึ่ง ภาวะเช่นนี้ทำให้จะหยิบจะจับหรือทำอะไรก็ไม่ถนัดถนี่หรือทำเพียงครึ่งๆ กลางๆ ด้วยการที่ตัดสินใจไม่ขาด หรือกระทำการต่างๆ ด้วยความขลาดมากกว่า

"ทำสงครามในชีวิตหรือภาระหน้าที่ตามที่มีอยู่ ตามเงื่อนไขปัจจัยที่เราเป็นอยู่ให้ดีและเต็มที่ที่สุด ทำไปตามหน้าที่และความรับผิดชอบ" ของการเกิดเป็นคน น่าจะเป็นคำสอนของกฤษณะที่เราต้องพึงเตือนพึงย้ำตัวเองให้เงี่ยหูฟังให้ดีและค้นให้พบกฤษณะในตัวเรา

ผู้ซึ่งจะคอยบอกคอยสอนและชี้ทางสว่างแก่ใจเราว่า ไม่ว่าจะเป็นสมรภูมิใดก็ตามที่เราก้าวเท้าเข้าไป ขอให้กระทำสิ่งที่พึงกระทำอย่างเต็มที่ ด้วยศักดิ์ศรีและความสง่างาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น