ปูพื้นกันสักนิด สำหรับท่านที่ยังไม่มีแบคกราวน์ ซึ่งก็ยากที่จะมีหรือติดตาม เพราะหนึ่งท่านอาจจะไม่สนใจ(ในเรื่องราวของผม) หรือสองไม่ได้ใส่ใจเพียงพอว่าผมจะเป็นใครทำอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง
ผมเคยตอบคำถามน้องที่ทำงานด้วยกันว่า เสาร์-อาทิตย์ผมทำอะไรบ้างว่าผมสอนโยคะ ทำเอาเจ้าน้องคนนั้นมึนไปพอสมควรเหมือนกันว่าพี่คนนี้ (มัน) ทำงานอะไรบ้างนักหนา ทั้งเขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์ แผล็บเข้ามาทำงานออฟฟิศ แล้วเสาร์อาทิตย์ก็ยังจะสอนโยคะอีกหรือนี่
ตามประสาคนอยู่ไม่สุขแต่กลับ 'สุขนิยม' กระมังครับ ทำให้ผมมีทางเลือกทางออกให้กับ "สิ่งที่จะทำ" และ "สิ่งที่ต้องทำ" มากมายหลายสิ่งในชีวิต...
ผมเริ่มต้นการสอนโยคะแบบไม่จริงจังหลังจากเรียนการเป็นครูโยคะมาจากอาศรมโยคะแห่งหนึ่งของอินเดียใต้ร่วมจะสองปี
ก่อนหน้านั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอที่จะสอน กับทั้งไม่รู้ว่าจะไปสมัครเป็นครูสอนโยคะได้ที่ไหน ที่ทางที่บ้านหรือก็ยังไม่พร้อมที่จะให้ใครมาเรียนในตอนนั้น ก็เลยไม่ได้คิดอะไรมากที่จะเอาจริงเอาจังกับการออกไปเพื่อสอนโยคะ มีการงานอะไรของชีวิตต่อหน้าก็ทำไปก่อน
จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนชื่อยุ้ย ทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายระดมทุนอยู่ไทยพีบีเอสก็โทรศัพท์มาชักชวนว่ากำลังอยากจะทำกิจกรรมให้กับเพื่อนๆ ไทยพีบีเอส ในชมรมชื่อ “สุขกายสบายใจ” ซึ่งอาจจะมีการแลกเปลี่ยนเรื่องสมาธิ การดูแลตัวเองทางเลือก การปฏิบัติธรรมและเรื่องของโยคะ ยุ้ยเลยถามว่าผมสนใจจะเข้าไปสอนให้กับเพื่อนๆ ที่ไทยพีบีเอสหลังเวลาเลิกงานบ้างหรือไม่
หลังจากที่ผมตอบตกลงเพื่อนไป เลยมีเหตุให้ผมจะต้องเดินเข้าเดินออกที่ทำงานของทีวีไทย (หรือไทยพีบีเอสในขณะนี้) ที่อาคารชินวัตร 3 วิภาวดีรังสิตทุกเย็นวันจันทร์ถึงวันพุธ
เวลาหกโมงเย็นที่ใครๆ เขาเลิกงาน เดินออกจากตึกกลับไปสู่เรื่องราวของแต่ละคนในชีวิตประจำวัน กลับเป็นเวลาที่ผมเดินเข้าไปในตึกเพื่อ “ทำงาน” และเดินเข้าไปสู่เรื่องราวของ “โยคะ”...
ถึงวันนี้หลายๆ สิ่งผันแปรและผมได้ขอหยุดที่จะเข้าไปสอนโยคะให้กับเพื่อนๆ ไทยพีบีเอสแล้ว แต่ผมก็ได้เปิดห้องฝึกโยคะเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาที่บ้านแถวลาดพร้าว และเรียกขานห้องฝึกโยคะแห่งนี้ว่า “ลิตเติลซันไชน์” มีคนมาเรียนมาฝึกโยคะบ้าง ไม่มากไม่น้อย ตามแต่กำลังและพื้นที่ที่มีอยู่ก็ไม่ได้กว้างขวางอะไร เรียกว่ามาคนหนึ่งเราก็สอน สอง สามหรือสี่คนก็สอน เคยมีคนมาเรียนมากสุดก็ไม่เคยจะเกินหกคนต่อการสอนหนึ่งครั้ง
คนที่ไม่เคยฝึกโยคะอาจจะคิดว่าโยคะคือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆ การเหยียดการยืด ไม่เหมือนหรือไม่ใช่การออกกำลังกาย และไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไร หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะคิดว่าการฝึกโยคะคงจะยาก เพราะต้องตัวอ่อน ทำตัวพับตัวงอ เหยียดยืดห้อยโหนท่านั้นท่านี้ได้
คิดถึงโยคะว่าฝึกยากหรือเรียนยาก (โดยเฉพาะการจูงใจให้ตัวเองมาเริ่มต้นฝึก หรือเริ่มเดินเข้าไปฝึกโยคะนั่นเองที่ยากที่สุด) แล้ว การเป็น “ครูโยคะ” อาจจะยากกว่าเสียอีก
ครูโยคะจะต้องมีบุคลิก มีน้ำเสียง ทำท่าอาสนะ (asana) ต่างๆ ของการฝึกโยคะได้ดี มีความรู้ความเข้าใจเรื่องปรัชญาโยคะดี มีจิตวิทยา กระทั่งมีความเมตตากรุณาแก่ศิษย์ ซึ่งเป็นหัวใจและพื้นฐานของการเป็น “ครู” ที่ดีไม่ว่าจะเป็นครูแขนงใดๆ นอกจากจะรู้ในสิ่งที่ตัวเองจะสอน “ดี” ได้จริงๆ แล้ว ก็จะต้อง “ถ่ายทอด” ออกมาให้ดีได้อีกต่างหาก
เวลาที่เราเป็นนักเรียนโยคะเราต้องการสมาธิ การอยู่กับตัวเองและการหายใจให้สม่ำเสมอ ฝึกอาสนะใดๆ อย่างเบาสบาย ไม่ฝืนไม่เกร็ง อย่างมั่นคงแข็งแรงให้ได้เพียงเท่านี้ แต่เวลาเราเปลี่ยนสถานะออกมายืนหน้าชั้น มาบอกท่า มากำกับดูแลและให้บทเรียนในฐานะครู มันกับไม่ง่ายและคล้ายจะเหมือนเวลาที่เรายืนส่องกระจกเงาและสลับเข้าไปอยู่อีกด้านหนึ่งของกระจกบานนั้น
ถ้าหากรู้ว่าการเป็น “ครู” และเป็น “ครูโยคะ” มันยากหรือมีรายละเอียดยุบยับขนาดนี้แล้ว ผมยังจะสอนโยคะอยู่หรือไม่?
จริงอยู่หนึ่งชั่วโมงเศษๆ ของการเรียนโยคะอาจจะไม่นานสักเท่าไร
แต่เป็นช่วงเวลาที่คนเป็นครูโยคะจะต้องดูแลการฝึก ท่าทางของนักเรียน ย้ำเตือนไม่ให้ลืมหายใจให้สม่ำเสมอ ลึกและยาวตลอดเวลา อยู่กับสมาธิของตัวเอง ไม่เครียดไม่ฝืนไม่เกร็ง ...เรียกว่ามีร้อยแปดสิ่งให้ต้องใส่ใจและต้องพะวง ดังนี้แล้วคงจะพอเห็นภาพว่า ขณะที่ปากเราย้ำเตือนคนที่เรียนว่าอย่าเครียดๆ ฝึกอย่างสบายๆ ผ่อนคลายอยู่นั้น คนที่เป็นครูโยคะเองกลับมีหลายสิ่งที่ถึงพร้อมให้เครียดได้เสมอและอยู่ตลอดเวลา
ถามว่ายากไหม สนุกไหมและอยากทำต่อไปไหม ผมเองก็คงจะยืนพื้นบนคำตอบเดิมว่า ผมเองยังไม่เก่งพอและจะต้องฝึกต้องเรียนรู้อีกมากในหลายสิ่งหลายอย่างในโลกความรู้อันกว้างใหญ่ของศาสตร์เก่าแก่นี้ แต่ก็ยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นทูตหรือผู้ส่งผ่านความรัก บทเรียนที่ดีอันล้ำค่าต่อชีวิตให้ฝังอยู่และสถิตในร่างกายและจิตใจที่มั่นคงของคนเรียนโยคะต่อไปให้ได้
เพราะการสอนโยคะสำหรับผมอาจจะไม่ยาก เพราะผมไม่ได้สอนโยคะ
แต่เป็นโยคะต่างหากที่กำลังสอนผม...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น