วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

หินเตือนใจ

“วันนี้คุณดื่ม'หิน'แล้วหรือยัง?”
ใช่แล้วครับ 'หิน' จริงๆ ล่ะครับ ไม่ได้อ่านผิดหรอก ผมไม่ได้เขียนหรือถามว่า “วันนี้คุณดื่ม นมแล้วหรือยัง” แน่ๆ
สำหรับยามเช้าของบางคน เครื่องดื่มขาวๆ อย่างนมอาจจะเป็นสิ่งที่มักคุ้นอย่างยิ่ง แต่ยามเช้านี้สำหรับผมเมื่อเดินออกไปทำงานผมกลับพบว่ารอบๆ กายของเรามีเรื่องราวของก้อนหินอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหินปูพื้น หินปูถนน หินที่แทรกตัวอยู่ในปูนในทรายเกาะกันก่อเกิดเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของเรา หลายสิ่งมีหิน หิน กับหิน แต่เพียงว่าเราไม่เคยมองเห็นเท่านั้น
ดังนี้แล้วหินสำหรับคนเราจึงอาจจะใกล้ชิดแทบจะเหมือนหรือมากกว่าเครื่องดื่มที่กินได้อย่างนมเสียอีก
ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบ “ก้อนหิน” โดยเฉพาะเวลาที่มีโอกาสได้เดินทางไปต่างที่ต่างถิ่นในสถานที่ที่เป็นธรรมชาติ ผมมักจะมองหาและมองเห็นเรื่องราวจากรูปทรงต่างๆ ของก้อนหินอยู่เสมอ
แต่ก่อนนี้ผมเคยที่จะพาหินบางก้อนจากสถานที่แต่ละแห่งที่ประทับใจติดตัวกลับมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นหินจากเชิงเขาหิมาลัยแถบเมืองโพคารา หินจากแม่น้ำโขง หินจากแม่น้ำเงา ฯลฯ ตลอดและจะเกือบทุกที่ที่เคยเดินทางไปแล้วได้ใช้เวลาในการพินิจพลิกหินหยิบมาดูเล่น ชื่นชมรูปทรง สีสันของหินแต่ละก้อน เสร็จแล้วก็เลือกเก็บก้อนหินเล็กๆ หรือขนาดรูปทรงที่เหมาะมือเหมาะใจติดตัวกลับมาเก็บไว้ที่บ้านด้วย
ผมชอบที่จะวางหินที่เก็บกลับมาไว้บนโต๊ะทำงานเพื่อให้มองเห็นได้ง่ายๆ เวลาเบื่อ คิดอะไรไม่ออกก็อาจจะเอื้อมไปหยิบหินสักก้อนมาลูบคลำเหลียวแลเล่นๆ
อยู่มาวันหนึ่งผมก็ได้คิดว่าเราไม่ควรจะเก็บหินอะไรกลับมาจากการเดินทางอีกแล้ว เพราะว่าคนอื่นที่เดินทางไปยังสถานที่ที่เป็นธรรมชาติในภายหลังก็ควรจะได้เห็นหรืออาจจะได้ชื่นชมหินก้อนเดียวที่ผมเคยหยิบเคยจับเล่นและเคยชอบ ไม่ว่าจะชอบและอยากจะนำติดตัวกลับมาบ้านอีกแค่ไหนก็ตาม
พอคิดได้ก็เลยหาโอกาสไปปลดปล่อยหิน ด้วยการพาหินเกือบทุกก้อนที่เก็บไว้ไปปล่อยในสถานที่ธรรมชาติ ตอนนี้ผมเลยมีหินที่มีลายขดๆ วนๆ ขีดข่วนไปทั้งก้อนจากแม่น้ำเงาหลงเหลือติดบ้านอยู่แค่เพียงก้อนเดียวที่นึกไม่ออกเหมือนกันว่าทำไมถึงได้เก็บหินก้อนนี้เพียงก้อนเดียวเอาไว้
ผมเองเคยนึกอยากจะรู้ให้ลึกมากขึ้นว่าหินในสถานที่ที่เดินทางไปหรือหินก้อนน้อยที่ชอบและเคยเก็บมาเป็นหินอัคนี หินบะซอลต์ หินแกรนิตหรือหินแปร แต่ไม่เคยมุ่งมั่นมากพอที่จะค้นและจารึกความรู้ทางธรณีเหล่านี้เอาไว้ หินที่ชอบก็เลยเป็นเพียงการสะท้อนความรู้สึกและความถูกต้องตรงใจในเรื่องราวของสีสันและรูปทรงเพียงเท่านั้นมาตลอด
เมื่อวานนี้ผมคุยโทรศัพท์กับพี่สาวที่ต่างจังหวัด บทสนทนาระหว่างพี่สาวคนเล็กกับผมนั้นนอกจากจะเป็นการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันตามประสาแล้ว เราได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวของแง่คิด มุมมองหลายๆ สิ่ง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
พี่สาวผมบอกว่าเพิ่งซื้อหนังสือ “ธรรมชาติของสรรพสิ่ง การเข้าถึงความจริงทั้งหมด” ของ ศ.น.พ.ประเวศ วะสีมาอ่าน เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาหนักๆ ตามที่เธอสนใจ และผมเองก็บอกว่าผมก็กำลังอ่านหนังสือชื่อ 8 พลัง เสกหนึ่งวันธรรมดากลายเป็นวันพิเศษ ซึ่งเป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่นที่ผมชื่นชอบมาก โดยเฉพาะภาพประกอบการ์ตูนของผู้เขียน (โฮริคาวะ นามิ)
พี่สาวผมนั้นกำลังวิตกใจกับลูกชายวัยรุ่นที่จะจบ ม. ต้นแล้วหาที่เรียนต่อ ม. ปลาย เจ้าหลานหนุ่มน้อยนี้ก็ผลการเรียนไม่ดีเอามากๆ ติดทั้งศูนย์ทั้ง ร. จนแม่ต้องพาไปแก้ไขที่โรงเรียนเพื่อให้จบ ม.3 ให้ได้เสียก่อน (พี่สาวผมกำลังรอลูกชายจัดการชีวิตอยู่ที่โรงเรียนตอนคุยโทรศัพท์)
ผมได้ยินแล้วก็เดือดเล็กๆ ในใจเลยพูดกับพี่สาวไปตรงๆ ว่า “มันไม่อยากเรียนหนังสือหรืออย่างไร ทำไมถึงเรียนได้ไม่ดีขนาดนั้น” ไม่ตั้งใจพอกระนั้นหรือ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากคนเป็นแม่สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของหลานชายพอสมควรว่าเป็นอย่างไร
ระหว่างที่หยุดเพื่อคุยโทรศัพท์กับพี่อยู่นั้น ผมพบว่าตัวเองนั่งอยู่บนขอบบ่อน้ำพุที่ไม่ได้เปิดน้ำในอาคารสูงแห่งใหม่แถวสามย่านที่เป็นที่ทำงาน ตรงนั้นมีหินก้อนเล็กๆ ให้มองดูละลานตามาก ระหว่างคุยโทรศัพท์ผมก็หยิบเอาหินแต่ละก้อนมาพินิจไปคุยไปด้วยความบันเทิงใจไม่รู้ตัวตามประสาคนชอบก้อนหิน
การพูดคุยกันหลายๆ ต่อหลายเรื่องมาถึงบทสรุปที่ผมพูดกับพี่ไปว่า “คนเราต้องรู้จักปรับเปลี่ยนและขัดเกลาตัวเองเหมือนก้อนหินในกระแสธาร รับรู้กระแสน้ำอุ่นเย็นที่ไหลผ่านตัวเรา เวลาที่อยู่ในกระแสน้ำหินย่อมถูกพัดและพลิกไปมาได้   (หากว่าเราเป็นหินก้อนที่เล็กและพลิกผันได้เพราะกระแสน้ำ) แต่ก็ไม่ได้ปล่อยตัวเองให้ลอยไหลไปตามกระแสน้ำได้ง่ายๆ”
ดังนี้แล้วหินก้อนนั้นก็จะมีสีสันและรูปทรงที่สวยงามเพราะผ่านการขัดเกลาของกระแสน้ำมาอย่างอดทน
คุยโทรศัพท์เสร็จผมก็พบว่า ตัวเองได้ฉวยหินก้อนเล็กๆ จากบ่อน้ำพุแห้งๆ ก้อนหนึ่งติดไม้ติดมือกลับมาวางบนโต๊ะทำงานด้วย...เพื่อเตือนใจถึงหลายๆ สิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น