วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จินตนาการของความรู้

"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้"
(Imagination is more important than knowledge.)
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อก้องโลกผู้ล่วงลับไปแล้วเคยว่าเอาไว้ และมันกลายเป็น "วรรคทอง" ที่คนรู้จัก จดจำเขาได้ ไม่น้อยไปกว่าการคิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพที่มาของระเบิดปรมาณู


ไม่ว่าสิ่งที่ทำให้ไอน์สไตน์พูดประโยคนี้เอาไว้จะมีอะไรดลใจอยู่เบื้องหลัง หรือว่าจริงไม่จริงมากน้อยอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากความหลงใหลและเชิดชูคำกล่าวนี้ก็คือในโลกเรานี้มีคนกลุ่มหนึ่งที่ให้คุณค่าต่อ "จินตนาการ" ไม่น้อย

ขณะเดียวกันก็อาจบอกด้วยว่าอย่างน้อยๆ เราอาจแบ่งแยกคนทั้งหมดในโลกนี้ออกเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้อยู่ในข่ายของผู้หลงใหลในจินตนาการ กับผู้ที่คร่ำเคร่งอยู่ในแว่นตาของความรู้

ภาพที่คนจดจำได้ในบุคลิกขี้เล่นของนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่
บรรดาผู้ที่ให้คุณค่าต่อจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากๆ คงจะหนีไม่พ้นบรรดาศิลปินและคนที่สร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งคนเหล่านี้มักจะอยู่กับอาการค้นหา ไขว่คว้าความฝัน การเปิดความคิดและพรมแดนของตัวเองให้กว้างเพื่อหาแรงบันดาลใจ ก่อให้เกิดจินตนาการสารพัน แต่ก็ไม่วายถูกค่อนขอดจากคนในอีกมุมหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้ามถึงความไร้สาระ ขาดแก่นสาร เพ้อฝันล่องลอย

ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือผู้ยึดติดกับความรู้ เชื่ออะไรที่เป็นเหตุเป็นผล การพิสูจน์ ตรรกะ หรือการพยายามไขว่คว้าหาข้อมูลเพื่อเอาชนะ "ความไม่รู้" ในขอบเขตของมันสมองมากกว่าหัวใจ จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นพวกคร่ำเคร่ง เอาจริงเอาจัง และมองอะไรไม่ค่อยจะพ้นกรอบทางความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเชื่อเรื่องการตั้งสมมุติฐาน การพิสูจน์ หาเหตุผลหักล้าง ก่อนนำไปสู่ข้อสรุปให้กับตัวเองในเรื่องต่างๆ

ผมเองนั้นรู้ตัวดีมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ว่าชอบการวาดเส้นเล่นสี ขีดๆ เขียนๆ ชอบอ่านหนังสือ ฟังเรื่องเล่า ดูหนังและฟังเพลงมากกว่าการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ หรือการอยากจะรู้ว่าโลกห่างจากดวงอาทิตย์เท่าไร หรือโคจรอย่างไรในระบบสุริยะจักรวาล ผมจึงเป็นคนของ "จินตนาการ" มากกว่าที่จะคิดว่าตัวเองเป็นพวกชอบความรู้แสวงหาความรู้

วิชาที่ผมชอบเรียนตอนเด็กๆ จึงเป็นวิชาพวกศิลปะ หรือดนตรีแบบงูๆ ปลาๆ คือชอบฟังชอบวิจารณ์มากกว่าที่จะหยิบเครื่องดนตรีมาเล่น ชอบขีดๆ เขียนๆ ชอบวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และวิชาภูมิศาสตร์เพียงเล็กน้อย แต่เป็นไม้เบื่อไม้เมามาตลอดกับวิชาเลข วิชาฟิสิกส์หรือเคมีที่จำต้องกัดฟันเรียนแบบไม่รู้เรื่อง (เป็นข้อพิสูจน์ว่าถึงจะเรียนวิชาแห่งความรู้ก็ไม่ได้ทำให้เรามี "ความรู้" ขึ้นมาได้) มาจนจบมัธยมฯ

ที่พูดถึงการเรียนตอนมัธยมฯ ของตัวเองเพราะคิดว่าคนเราใช้เวลาในช่วงเวลานั้นที่จะเรียนรู้ว่าเราชอบเรียนอะไร ไม่ชอบเรียนอะไร กว่าจะก้าวเดินไปเข้ามหาวิทยาลัยหรือเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ เราเองก็อาจจำเป็นที่จะต้องนิยามแบ่งแยกตัวเองว่าอยู่ในฝ่ายใดระหว่าง "จินตนาการ" กับ "ความรู้"

เส้นขอบฟ้าที่หายไป จินตนาการพลอยหดหายตาม
เหรียญสองด้านที่ควรจะอยู่บนเหรียญเดียวกันก็เลยถูกแบ่งแยกออกเป็นคนละเหรียญไป ด้วยความไม่ชอบ ความไม่รู้ ไม่เห็นความสำคัญหรือคุณค่า ตลอดจนการที่เราไม่ได้ "เรียนรู้" จากบทเรียนที่เหมาะสมหรือวิธีการที่น่าสนใจพอว่า ถ้าจะให้ดีสองสิ่งนี้- จินตนาการกับความรู้ ไม่ควรมีเส้นคั่นแบ่งแยกหรืออาจคือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่เป็นเหรียญที่อยู่คนละหน้าและกำลังหล่อหลอมความพอดีความสมบูรณ์ให้กับคนเรา

หากเรายอมรับความจริงที่ว่า มีจินตนาการอยู่ในทุกความรู้ และมีความรู้อยู่ในทุกจินตนาการ โลกคงผลิบาน งดงาม น่าอยู่ และสร้างทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและโลกเราได้ดีกว่าที่มีที่เป็นอยู่ตอนนี้...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น