ตลอดชีวิตการทำงานเกี่ยวกับตัวหนังสือของฉัน ครั้งหนึ่งเคยหลุดวงโคจรจากการเป็นนักข่าว ไปสู่บทบาทของสาวออฟฟิศอยู่ระยะหนึ่ง หน้าที่การงานที่รับผิดชอบนั้น ยังคงวนเวียนอยู่กับงานเขียน
บริษัทที่ฉันเป็นลูกจ้าง เป็นบริษัทขายตรงรายใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ใช่แล้ว บริษัท แอมเวย์ นั่นเอง
ตลอดระยะเวลาสองปีของการทำงานที่แอมเวย์ ฉันรู้สึกเหมือนได้ทำงานกับตัวหนังสือมากที่สุดเท่าที่เคยทำมาในชีวิต
นึกย้อนกลับไป ฉันยังไม่อยากเชื่อว่าจะมีงานอะไรให้ทำได้มากมายขนาดนั้น พนักงานรับผิดชอบในแผนกมี 3 คน ต่างก้มหน้าก้มตาช่วยกันทำงาน ชนิดที่ต้องเรียกว่าแทบไม่มีเวลาหายใจ
สิ่งพิมพ์ทุกอย่าง ถ้าขึ้นชื่อว่ามีตัวหนังสือล่ะก็ แผนก literature ที่ฉันสังกัดอยู่ ต้องดูแลรับผิดชอบอย่างไม่มีการอิดออด ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารรายเดือน จดหมายข่าวรายปักษ์ แคตตาล็อก รายการแสดงราคาสินค้า (price list) และฉลากสินค้า
โดยทั้งหมดนี้ต้องดูแลทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ตามล่าตามจิกข้อมูลจากเหล่ามาร์เก็ตเตอร์ เขียนเรื่อง ส่งให้ผู้ที่รับผิดชอบตรวจ รอส่งกลับ (โดยต้องโทรจิก) แก้ไข ตรวจปรู๊ฟ ติดต่อเอเจนซี่เพื่อทำอาร์ตเวิร์ค บรีฟเป็นรายหน้า ส่งให้มาร์เก็ตเตอร์และหัวหน้าตรวจเมื่อเอเจนซี่จัดอาร์ตเวิร์คกลับมา ติดต่อโรงพิมพ์ คิดราคาค่าออกแบบและค่าพิมพ์ ทำเบิกจ่ายค่าอาร์ตเวิร์คและค่าพิมพ์ ตรวจปรู๊ฟสี หากมีการถ่ายรูปสินค้า ต้องเขียนใบเบิกสินค้า นัดสตูดิโอ และไปควบคุมดูแลการถ่ายภาพ
นอกเหนือจากงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง บริษัทยังมีกิจกรรมต่างๆ แจกจ่ายกระจายให้พนักงานร่วมมือกันทำให้สัมฤทธิ์ผล อย่างเช่นการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ซึ่งกว่าจะได้มา แต่ละแผนกต้องส่งตัวแทนตั้งเป็นคณะทำงาน ทั้งประชุม ทำงาน จัดทำเอกสาร และตรวจสอบมาตรฐานกันเองจนมึนตึ้บ
งานที่มีรายละเอียดเหล่านี้ไม่ได้มาทีละงาน แต่ทุกอย่างประเดประดังกันเข้ามาราวห่าฝน บ่อยครั้งเราเปียกปอน เหน็บหนาว จนแทบทรงตัวไม่อยู่
วันที่หัวใจเราร้องตะโกนว่า “โว้ยยยย กูไม่ไหวแล้วโว้ย”
ไม่น่าเชื่อ เราก็ยังทำมันไหว
ไม่น่าเชื่อ เราก็ยังทำมันไหว
และเมื่อมองกลับไปที่เพื่อนร่วมงานทุกคน ฉันไม่เคยเห็นใครมีเวลานั่งเหม่อลอย ใช่ว่าเราเหนื่อยอยู่คนเดียวเสียเมื่อไหร่
หลายครั้งที่เส้นด้ายแทบขาดผึง แต่สิ่งที่ฉันเห็นคือหัวหน้าใหญ่ของแผนก พี่ปาน-ชุมพฤนท์ ยุระยง ยังคงขมีขมันกับกองเอกสารบนโต๊ะ กระตือรือร้นกับการเข้าประชุม มีอารมณ์ขันให้ลูกน้อง และตรวจงานพวกเราอย่างใส่ใจทุกชิ้นเสมอ
หน้าที่ในความรับผิดชอบของพี่ปานมากมายกว่าพวกเราหลายเท่านัก แต่พี่ปานก็บริหารงานอันแสนยุ่งเหยิงในแบบที่เรียกว่า “เอาอยู่”
การเติมน้ำยาล้างจานแบบซองรีฟิลล์ใส่ขวด ถ้าเราแค่เทน้ำยาหมดซองแล้วโยนทิ้ง เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าน้ำยาที่ติดค้างในซองยังเหลือให้เราได้ใช้ประโยชน์อีกหลายครั้ง
ถ้าความสามารถของคนเราเป็นเหมือนซองรีฟิลล์ แอมเวย์ได้ “รีด” ศักยภาพพนักงานออกมาได้อย่างมากมายแทบไม่น่าเชื่อ
กองงานมหาศาลที่ท่วมหูท่วมหัว เราคิดว่าใครจะทำหมด ใครจะทำทัน ใครจะทำไหว
เราบ่นในใจ...คิดว่าฉันเป็นยอดมนุษย์หรือไง ให้งานมากมายขนาดนี้...
คำตอบคือใช่ เราทุกคนเป็นยอดมนุษย์ เราทุกคนมีพลังล้นเหลือ เราทุกคนมีศักยภาพแอบแฝงมหาศาล
ท่ามกลางงานที่ทำแทบไม่ทัน ฉันเคยได้รับมอบหมายให้จัดทำ “ประวัติเพชร” ขึ้นใหม่ (นักธุรกิจแอมเวย์ที่ทำยอดขายจนได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็นเพชร เพชรบริหาร ตรีเพชร มุงกุฏ มุงกุฏทูต ตามลำดับ--ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งมีราว 70 คน โดยต้องนัดถ่ายรูปใหม่หมด สัมภาษณ์ และทำต้นฉบับของบุคคลเหล่านี้เป็นรายคน
ฉันในฐานะผู้รับผิดชอบโปรเจ็คท์นี้โดยตรง รับโควต้าในการสัมภาษณ์และเขียนมากที่สุด น่าจะราว 30-40 คน
สิ่งที่ยากคือ นอกจากจะต้องเขียนเรื่องราวความสำเร็จ ที่มีวิธีการทำงานเหมือนกันทุกคนไม่ผิดเพี้ยน ให้แตกต่างหลากหลาย น่าสนใจและไม่ซ้ำกันแล้ว ยังต้องเร่งทำให้เสร็จตามเดดไลน์ด้วย
คืนแล้วคืนเล่าที่ฉันนั่งเขียนเรื่องราวของเพชรแต่ละคน จนน้ำในร่างกายตัวเองแทบแห้งเหือด สมองและหัวใจบอกว่าทำต่อไปไม่ไหวแล้ว คิดไม่ออกแล้ว
แต่แล้วค่ำคืนถัดมา ภายใต้แสงโคมไฟสีส้มในห้องนอน ฉันบอกตัวเองว่า ถ้าฉันทำโปรเจ็คท์นี้เสร็จ นับแต่นี้ต่อไป ไม่ว่าจะเจองานในอะไรในหล้าโลก ฉันก็ทำได้หมด
แล้วฉันก็ทำเสร็จและผ่านมาได้จริงๆ
แอมเวย์อาจเป็นชื่อที่หลายคนทำท่าแหยง เมื่อใครสักคนที่เรารู้จักพูดถึง ชักชวน หรือนำเสนอสินค้าให้
แต่สิ่งดีที่แอมเวย์บอกกับนักธุรกิจและพนักงานทุกคนเสมอก็คือ ถ้าคุณเชื่อว่าคุณทำได้ คุณก็ทำได้
ลองรีดซองรีฟิลล์ในตัวคุณเองดูสิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น