ภาษาไทยของเรานั้นมีคำที่เปี่ยมด้วยความหมายมากมายหลายคำก็จริง แต่ผมคิดว่าคำคำหนึ่งที่มีความหมายและมีความหวัง พาให้หัวใจหรือดวงตาของเรากระชุ่มกระชวยทุกคราที่ได้ยลได้ยินก็คือคำว่า "ปลูก" ...
ไม่เชื่อลองอ่านคำเหล่านี้ดู...
ปลูกรัก ปลูกบ้าน ปลูกเรือน ปลูกต้นไม้ ปลูกผัก ปลูกฝัง ปลูกชีวิต
...ฯลฯ...
อากัปกิริยาที่คนเราจะต้องทำเพื่อประกอบคำว่าปลูกให้มีความหมายเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ขึ้นก็คงคล้ายกับคำว่า "ปลูกฝัง" นั่นแหละครับ คือจะต้องมีการขุดการวางการฝังหรือใส่บางสิ่งลงไป เพื่อให้เป็นเชื้อหรือหน่ออ่อนของสิ่งที่ปลูก หรือเป็นฐานที่จะสามารถต่อยอดงอกเงยงดงามต่อไป หากเป็นต้นไม้ก็จะได้เติบโตออกดอกผลให้เห็นหรือเก็บเกี่ยวได้ในวันข้างหน้า
ความจริงที่สำคัญประการหนึ่งของการลงมือลงแรงปลูกสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คือ "ปลูกสิ่งใดก็ย่อมจะได้สิ่งนั้น" กลับคืนมา เช่นเมื่อเราเลือกหย่อนเมล็ดกล้าดอกไม้หรือผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งลงไปในหลุมเพาะปลูก เมื่อต้นอ่อนงอกเงยขึ้นจนยืนต้นสำเร็จและอยู่รอด วันหนึ่งข้างหน้าต้นไม้ต้นนั้น หรือดอกไม้ดอกนั้นก็จะผลิดอกออกผลมาเป็นผลไม้หรือดอกไม้ชนิดนั้นๆ ให้เราเสมอ นอกเสียจากว่าจะแคระแกรนหรือถูกเด็ดทึ้งเสียหายจนไม่มีโอกาสได้เติบใหญ่ไปก่อน
ไม่เคยมีเลยสักครั้งที่เราลงมือปลูกอะไรด้วยการใส่สิ่งหนึ่งลงไปในเนื้อดินหรือในจิตใจของใครสักคน แล้วสิ่งนั้นจะงอกเงยหรือปรากฏผลเป็นอีกอย่างแตกต่างไปจากธาตุเชื้อเดิมของสิ่งที่เราปลูกเพาะลงไป
การเลี้ยงดูบ่มเพาะชีวิตเองก็คงเป็นเช่นเดียวกับการปลูก คล้ายการหว่านพืชเพื่อหวังผล การที่ใครสักคนมีลูกและเลี้ยงดูลูกด้วยอาหารอะไร ใส่อะไรลงไปในเรื่องราวชีวิตของเด็ก บอกสอนอะไร หรือให้คุณค่าเรื่องอะไรเพื่อให้ยึดถือปฏิบัติ ล้วนแต่เป็นภารกิจของการปลูกที่มือของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่กำหนดความเป็นไปของต้นไม้น้อยๆ ทั้งสิ้น
ชีวิตของลูกจึงเปรียบเสมือนผลงานการปลูก ซึ่งแม่และพ่อลงมือลงแรง ทะนุถนอมเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์ที่ไร้รูปทรงชัดเจน หรือยังไม่ผลิงอกออกมาเป็นกล้าไม้หน่ออ่อนเล็กๆ ให้ชื่นใจ ทั้งยังไม่รู้ด้วยว่าวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อต้นไม้ต้นนี้โตขึ้นมาจะทานทนต่อหนอน แมลงหรือวัชพืชที่คอยเบียดเบียนหรือจู่โจมกัดกินทุกเมื่อ จนเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ ผลิดอกออกผลต่อไปได้หรือเปล่า
หากเป็นพ่อแม่ เราอาจจะไม่รู้ว่าเราเองได้ "ปลูก" หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างลงในตัวตนของลูกตั้งแต่วันแรกของชีวิต คล้ายการหย่อนเมล็ด รดน้ำพรวนดินให้อาหารคอยบำรุงดูแล ขณะเดียวกันก็ยังต้องเด็ดเดี่ยว กล้าที่จะตัดแต่งเด็ดใบที่ไม่งามหรือกิ่งก้านที่ระเกะระกะออกไปเสียบ้าง จึงมีคำกล่าวเชิงเปรียบเทียบถึงบทบาทการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ว่า “ต้นไม้หล่นไม่ไกลต้น” หรือ “ไม้ใหญ่ไม่สามารถงอกงามขึ้นภายใต้ร่วมเงาของกันและกันได้”
ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เข้าก็อดจะนึกสงสัยไม่ได้ว่าสังคมเราได้หย่อนเมล็ดพันธุ์ชนิดใดลงไปในการปลูก หรือได้ปลูกอะไรให้กับเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานเราบ้าง
วันนี้เราปลูกอะไรก็อย่าลืมเผื่อใจเอาไว้ด้วยว่า “ปลูกสิ่งใดก็จะได้รับผลของสิ่งนั้น”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น