วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สัญชาตญาณบอก

ประมาณปลายสัปดาห์ก่อน a day Foundation และ 'บุญ Bike' ร่วมกันทำกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง "เจ้าหนูสิงห์นักปั่น" Shakariki ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า เพื่อหาเงินบริจาคซื้อจักรยานให้เด็กๆ ที่ขาดแคลน ผมในฐานะของคนใจบุญ (ฮา) และชอบจักรยาน เลยขออนุโมทนาบุญกับกิจกรรมครั้งนี้ด้วยการจองตั๋วเข้าร่วมกิจกรรมและไปนั่งดูหนังครั้งนี้ด้วยคน


หนังญี่ปุ่นที่สร้างจากการ์ตูนเจ้าหนูสิงห์นักปั่นนี้เล่าเรื่องของเด็กผู้ชายวัยรุ่นคนหนึ่งที่ชอบการขี่จักรยานมากๆ และไม่เกี่ยงว่าจักรยานที่เขาขี่จะต้องเป็นจักรยานแบบไหน หรือปั่นไปที่ไหน ขอเพียงได้ปั่นและปั่นเท่านั้นก็สุขใจ เขาหายใจเข้าหายใจออกเป็นการขี่จักรยานถึงขนาดเอาเรื่องการปั่นจักรยานไปเพ้อถึงขณะหลับในห้องเรียน จนต้องโดนครูเอาหนังสือฟาดหัว


เทรุคุงคือชื่อของวัยรุ่นคนนี้ที่ในที่สุด ความชอบและฝีมือในการปั่นจักรยานอย่างบ้าบิ่น ไม่เหน็ดเหนื่อยและหวั่นเกรงใครก็ไปเข้าตาเพื่อนๆ นักปั่นจักยาน ทำให้เขาเป็นที่สนใจของชมรมจักรยานแข่งขันของโรงเรียนซึ่งอยู่ในช่วงตกต่ำ เพราะขาดนักแข่งฝีมือดี การเข้าร่วมชมรมทำให้เทรุคุงจะต้องหัดและปรับตัวเพื่อที่จะรู้จักกับจักรยานแบบใหม่ที่ใช้แข่งซึ่งเขาเองไม่เคยรู้จักมาก่อน ที่เรียกว่า "โรดเรซไบค์" และที่สำคัญก็คือ การเรียนรู้ที่จะแข่งขันร่วมกับทีมพร้อมกับกฎระเบียบของการแข่งขันจักรยานทางเรียบที่หยุมหยิมมากมาย ใช่แต่เพียงว่ามีสัญชาตญาณในขี่จักรยานที่ดี เก่ง หรือชอบปั่นจักรยานเท่านั้นจะเพียงพอและเอาชนะการแข่งขันได้


ผมดูหนังเกี่ยวกับจักรยานและการแข่งขันแบบ "สะอาดๆ" ซึ่งให้พลังที่ดีตามประสาหนังญี่ปุ่นเรื่องนี้ด้วยความสนุก และแอบลุ้นว่า การที่เอาตัวเองเข้ามาพัวพันกับวงการแข่งขันจักรยานจะทำให้ "สัญชาตญาณ" ในตัวของตัวเอก ซึ่งคือเทรุคุงในเรื่องจะสูญเสียไปหรือเปล่า เพราะในหนังมีตัวเปรียบเทียบอีกคนซึ่งเป็นนักปั่นยอดฝีมือจากโรงเรียนคู่แข่งชื่อยูตะ ซึ่งแม้จะปั่นจักรยานเก่งและเร็ว แต่ก็เอาจริงเอาจังเข้มงวดและต้องการเอาชัย มากกว่าจะเป็นความสนุกจากภายในหรือความรู้สึกรักชอบที่จะปั่นเหมือนเทรุคุง


อีกมุมหนึ่งนั้นหนังเรื่องนี้บอกเล่าถึงประวัติในวัยเด็กของเทรุคุง ซึ่งไม่มีเพื่อนและเติบโตขึ้นมาในเมืองแห่งหนึ่งในแถบคันไซ (ภาคตะวันตกของญี่ปุ่น) ซึ่งสภาพของเมืองเป็นเนินเขาจนทำให้ไม่มีเด็กๆ หรือคนทั่วไปในเมืองนั้นที่จะใช้จักรยานกัน เพราะความเป็นเนินสูงที่ไม่เอื้อต่อการใช้จักรยาน แต่เทรุคุงก็ไม่เคยท้อ แม้จะโดนเพื่อนในวัยเดียวกันล้อหรือแซวในความดื้อดึงที่จะปั่นจักรยานเพื่อเอาชนะเนินสูงของเมืองก็ตาม แต่เขาก็ไม่ท้อแท้หรือเลิกปั่น แต่กลับกลายเป็นยิ่งรักยิ่งชอบการปั่นจักรยานขึ้นเนินเอาชนะความสูงเพิ่มเติมขึ้นมาอีก


ในตอนท้ายของหนัง เทรุคุงเอาชนะยูตะ สุดยอดนักปั่นได้ในที่สุด แต่เขาก็ไม่ได้เป็นเข้าเป็นที่หนึ่ง เพราะ "เอส" หรือตำแหน่งผู้นำทีมในทีมเดียวกันที่ชื่อป๊อบโปะเป็นผู้เข้าเส้นชัยไปก่อน ในระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรของการแข่งขันจักรยานทั้งยังต้องป่ายปีนเขาสูงชัน นอกจากความเร็วและความอดทน สิ่งที่เทรุคุงไม่เคยสูญเสียไปเลยก็คือ "สัญชาตญาณในตัว" ในการเป็นคนรักจักรยานและชอบการปั่นจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางใดๆ หรือบนสนามแข่งขัน


ภาพเกือบสุดท้ายของหนังเรื่องนี้เป็นภาพเทรุคุงทรุดตัวลงข้างจักยานหลังเข้าเส้นชัย แล้วพูดกับตัวเองดังๆ ว่า " เหนื่อยมาก แต่ก็มันสุดๆเลยที่ได้ปั่นจักรยาน" บ่งบอกว่าการแข่งขันและโลกของความเร็วบนอานจักรยานที่เขาพาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงความรักความฝันจักรยานในตัวเขา


ตอนนั้นเองที่ทำให้ผมได้คิดว่า คนเราอาจจะเป็นอะไรก็ได้ หรือเรียนรู้อะไรก็ได้ แต่น่าจะดีกว่าถ้าเรายังรักษาสัญชาตญาณหรือธรรมชาติในตัวตนของความเป็นเราเอาไว้ให้ได้


แม้จะไม่ใช่เรื่องจักรยาน แต่โลกและชีวิตก็คอยเปรียบเทียบและผลักดันเราเข้าสู่การแข่งขัน คงต้องคิดกันแล้วล่ะครับว่าทำอย่างไรเราจึงจะออกไปปั่นอย่างเสรี และอยู่กับโลกอย่างไม่สูญเสียความเป็นเร

1 ความคิดเห็น:

  1. " อยู่กับโลกอย่างไม่สูญเสียความเป็นเรา .." ชอบมากเลยค่ะ..

    ตอบลบ