วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จักรยานคนจน

พาหนะอันเรียบง่าย ประกอบขึ้นมาด้วยล้อ โครง แฮนด์และมือจับ โซ่ จานหมุน บันไดถีบ อาน และสายเบรค ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ พาหนะคันเล็กๆ ก็สามารถพากายและจิตใจเราโลดแล่นไปได้ไกลแสนไกล


นอกจากคุณประโยชน์และการใช้งานที่ไม่ต้องการอะไรมากกว่าแรงมือแรงเท้าของคน ไม่ต้องพึ่งพิงพลังงานที่สิ้นเปลืองและยังส่งผลเสียตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมเช่นน้ำมันหรือไฟฟ้า "จักรยาน" จึงเป็นพาหนะที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สำหรับคนทุกชาติทุกชนชั้น


จักรยานอาจจะมีตราประทับอยู่ว่าเป็นพาหนะสำหรับคนยากไร้ ขัดสน เพราะสนนราคาที่ไม่กี่บาทและการที่ไม่ต้องการสิ่งใดอีกนอกจากแรงคนปั่น ก็ใช้งานได้ง่ายดายทันที ในอดีตเกือบจะทุกครัวเรือนจึงต้องพึ่งพิงและมีจักรยานเอาไว้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นระยะทางใกล้ไกลหรือบรรทุกหนักแค่ไหน กันแทบจะทั้งนั้น

หลายชาติที่มีประชากรล้นเมืองอย่างจีนและอินเดียเมื่อก่อนนี้เราจะเห็นภาพผู้คนออกมาควบจักรยานปั่นออกไปเต็มถนนหนทาง แต่ทุกวันนี้ในเมืองใหญ่ของจีน ปริมาณคนใช้จักรยานอาจจะลดน้อยลงไปตามกระแสความทันสมัย แต่ในอินเดียก็อาจจะพอได้เห็นคนใช้จักรยานเยอะๆ อยู่บ้าง เช่นเดียวกันในบางประเทศที่ยากไร้เช่นในพม่าหรือเวียดนาม จักรยานยังเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก เพื่อนร่วมทางที่ซื่อสัตย์และอดทนของผู้คนเสมอ


เมื่อผมยังเด็ก ผมมีเพลงลูกทุ่งเพลงโปรดอยู่เพลงหนึ่งที่ชอบฮัมตามหรือพอจะร้องตามได้เวลาที่ถูกครูประจำชั้นเกณฑ์ให้ออกไปร้องเพลงหน้าห้อง นั่นคือเพลง "จักรยานคนจน" ของยอดรัก สลักใจ ซึ่งหากใครรู้จักและพอจะจำได้ เนื้อร้องท่อนหนึ่งร้องเอาไว้ว่า


"...คนจนอย่างพี่ ไม่มีเงินเป็นอำนาจ
จะไปสามารถ บังคับสะกดจิตใจ
คนสวยของพี่ จึงคิดจะมีรักใหม่
ไปนั่งท้ายมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่เมดอินเจเปน
จักรยานของพี่ ราคาไม่กี่ร้อยบาท
ถึงช้าอืดอาดแต่ก็เมดอินไทยแลนด์
ต้องใช้ขาปั่นรถพี่มันถึงจะแล่น
ไม่เหมือนรถเครื่องต่างแดน
ยิ่งเร่งยิ่งแล่นเพราะใช้น้ำมัน..."



ในตอนนั้นผมไม่ได้อินอะไรมากมายกับเนื้อหาเพลง แต่ก็รู้สึกดีกับการปั่นจักรยานมาอย่างต่อเนื่อง นับจากวัยเด็กที่ควบจักรยานปุเลงๆ ออกไปเที่ยวเล่นนอกเมืองกับเพื่อนๆ หรือการขี่เสือหมอบขึ้นเนินลงเนินในตอนเรียนมหาวิทยาลัย พอจบทำงานแล้วก็อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบพอให้ถอยจักรยานเสือภูเขาคันสวยน้ำหนักเบาๆ แค่สิบกิโลฯ เศษ เอามาไว้ปั่นเล่นตามป่าเขาในช่วงวันหยุดพร้อมกับเพื่อนฝูงที่มีใจรักจักรยาน


จักรยานคนจนหรือคนจนเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ที่ยากจะปฏิเสธในการใช้จักรยานกลับกลายเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่งของสังคมบ้านเราในอดีต เมื่อบรรดาวัยรุ่นในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ พากันถอยจักรยาน Fixed Gear คันเพรียวๆ สีสันสดใสออกมารวมกลุ่มกันปั่นเล่นเป็นสีสันไปรอบเมือง หรือมีกิจกรรมดีๆ ที่ชักชวนให้คนรักจักรยานและรักสุขภาพออกมาปั่นจักรยานรณรงค์เรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุควิกฤตสิ่งแวดล้อมและการพูดถึงการแก้ปัญหาโลกร้อนเช่นยามนี้ จักรยานยิ่งกลายมาเป็นเหมือนม้าขาวที่รอคอยให้อัศวินสีเขียวผู้รักโลกทั้งหลายต้องไขว่คว้าหามาขับขี่ มีการเรียกร้องและพูดถึงการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าปั่น พร้อมกับชักชวนกันออกมาใช้จักรยานมากขึ้นเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ ทำให้เมืองน่าอยู่ สุขภาพคนใช้จักรยานทั้งทางกายและทางกระเป๋าสตางค์ก็จะได้รับการฟื้นฟูดูแลได้ไม่ยาก แค่เพียงเอาจักรยานออกมาใช้ในชีวิตประจำวัน


ทุกวันนี้จักรยานดีๆ สวยๆ อาจจะไม่ได้เมดอินไทยแลนด์เหมือนในบทเพลงจักรยานคนจน และราคาก็ขยับขึ้นไปมากกว่า "ไม่กี่ร้อยบาท" หลายเท่าตัว แต่สิ่งหนึ่งอันเป็นเสน่ห์ที่เข้าถึงง่ายๆ และได้ทุกเมื่อก็คือ หัวใจแห่งความอิสระเสรีที่ผู้ใช้งานทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับ แค่พาตัวเองออกไปบนถนน ออกไปสู่โลกกว้าง...บนอานจักรยานแค่นั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น