วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หมายเหตุจากความเจ็บป่วย

แม้ไม่ได้ตั้งใจและกระทั่งไม่ได้ส่งใบลา ผมก็ห่างหน้าจากการเขียนเรื่องบนบล็อก "ตะลุมบอน" ประจำไปอย่างไม่จงใจถึงสองวัน


เป็นสองวันแห่งการล้มหมอนนอนเสื่อ หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คืออาการป่วยรับประทานนั่นเอง


เมื่อความเจ็บป่วยมาเยือนชีวิตแบบไม่ต้องเชื้อเชิญ ทำให้คนเราพลาดหรืออดที่จะใช้ชีวิตไปอย่างปกติธรรมดาอย่างที่ควรจะเป็นหลายเรื่องหลายราว แต่ก็จริงที่ว่าการเจ็บป่วยนั้นเป็นเหมือนเสียงระฆังทองที่ลั่นกังวานในตัวตนของเรา บอกให้ฟังเสียงร่างกายตัวเอง บอกว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ถึงเวลาแล้วที่จะยอมรับความเจ็บป่วยนั้นว่าเป็นส่วนหนึ่งของเราเอง...


ผมเชื่อว่าทุกคนบนโลกนี้คงจะเคยไม่สบายกันทั้งนั้น ทั้งในระดับป่วยไข้ไอเจ็บคอ ปวดหัวน้ำมูกไหลเล็กๆ ไปจนกระทั่งระดับต้องถูกเข็นขึ้นเขียงเข้าห้องผ่าตัดให้หมอชำแหละส่วนที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายออกไป ซึ่งนอกจากเรื่องบุญทำกรรมแต่งแล้วว่าคนเราจะเจ็บป่วยกันกี่มากน้อยหรือในระดับใด ส่วนสำคัญย่อมอยู่ที่การดูแลรักษาและเข้าใจตัวเองอีกด้วย ว่าเราควรจะกินอยู่หรือทำตัวอย่างไรให้ห่างไกลความเจ็บป่วย


เมื่อไม่สบายในระดับหนึ่่ง ผมเชื่อว่าคนเราทุกคนย่อมจะต้องเคยเงี่ยหูฟังเสียงภายในหรือพูดคุยกับตัวเองกันทุกคน ทำนองว่า "นายเป็นอะไร" "ไม่สบายตรงไหน" "เจ็บตรงนี้ปวดตรงนี้มากไหม" "ไหวไหม" "จะต้องกินยาอะไร" และท้ายที่สุดก็คือถามตัวเองตรงๆ ว่า "เฮ้ย ไปหาหมอดีไหม (วะ)"


ผมเป็นคนหนึ่งที่ถามตัวเองอยู่บ่อยๆ เมื่อเราเจ็บป่วยระดับเป็นหวัดคัดจมูกน้ำมูกไหลไอเจ็บคอบ้าง ว่าตัวเองไหวไหม จะต้องนอนพัก เช็ดเนื้อเช็ดตัว กินน้ำมากๆ หรือหาหยูกยากินเอาเองไหม เพราะไม่อยากจะถามคำถามสุดท้ายที่ว่า "ไปหาหมอดีกว่า" ถึงแม้ว่าจะมีสิทธิประกันสังคมฟรีรองรับอยู่ก็เถอะ การเหยียบย่างพาตัวเองก้าวเข้าไปโรงพยาบาลมีความหมายและหมายเหตุหลายๆ สิ่งอย่างที่ส่วนลึกของจิตใจผมเอง บอกกับตัวเองว่าถ้าใจไหว กายสู้อยู่ก็อย่าเพิ่งไปโรงพยาบาลเลย


สำหรับผมการไปเข้าคิวรอรับการรักษาและวินิจฉัยโรคที่โรงพยาบาลนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ "เปื่อย" ซ้ำซากขึ้นจากอาการป่วยที่เป็นอยู่ นอกจากนี้เวลาโชคดีหรือโชคร้ายไม่รู้ ที่อุตส่าห์นั่งรอหมออย่างมีหวังว่าจะหายเมื่อได้เข้าไปพบ ก็กลับกลายเป็นนั่งรอหมอสองชั่วโมง เพียงเพื่อว่าเอาใบหน้าป่วยๆ โทรมๆ ของเราไปนั่งเล่าอาการให้หมอฟังแค่ไม่ถึงห้านาที โดยไร้สายตาแชเชือน ไร้การส่องกล้องแตะตรวจจุดต่างๆ หรือแตะต้องเนื้อตัวดูอาการอย่างเป็นห่วงเป็นใย...อย่าได้หวัง


สองวันก่อนเมื่อคะเนอาการที่ทรงๆ มาหลายวันแล้วเกรงว่าจะทรุด ผมก็ผละจากตารางกิจกรรมทุกอย่างของชีวิตปกติ ไปนั่งรอคิวตรวจรักษากับหมอที่โรงพยาบาลเจ้าประจำที่ผมมีสิทธิรักษาแถวๆ บ้าน ไม่รู้จะเรียกว่าโชคดีในความโชคร้ายดีไหมที่ช่วงนั้นเป็นวันหยุดยาว คนเลยมารักษากันบางตากว่าปกติ ผมนั่งรอไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ได้เรียกเข้าไปตรวจ


หนนี้หมอที่ตรวจอาการเป็นหญิงสาวตัวเล็กและยังดูไม่สูงวัยนัก แม้จะมีใบหน้าเรียบเฉยกึ่งเบื่อๆ แต่ก็ยังตั้งอกตั้งใจซักถามประวัติและอาการด้วยดี ทำให้ใจของคนป่วยชื้นขึ้นมาหน่อยหนึ่ง จากนั้นก็ถูกส่งตัวไปรักษาและรับยาหอบหนึ่งกลับมากินที่บ้านต่อ สิริรวมแล้วผมใช้เวลาที่โรงพยาบาลในยามบ่ายวันเสาร์ที่ควรจะใช้ชีวิตอย่างเริงร่าหากความปกติสามัญไม่ป่วยไม่ไข้ไปที่โรงพยาบาลร่วมสามชั่วโมง นี่ขนาดว่าคนน้อยๆ กว่าทุกทีที่เคยไปรอแล้ว


คนกับความป่วยเป็นของคู่กันก็จริง แต่คนเราก็พึงช่วยให้ตัวเองเว้นระยะที่จะไม่เจ็บป่วยได้ด้วยวิธีการต่างๆ นานาที่มีการบอกการแนะกันถึงเคล็ดลับของการมีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารให้เหมาะสม ถูกต้อง การไม่ใช้ชีวิตหนักหน่วงไปในทางใดทางหนึ่งจนร่างกายเสื่อมทรุดหรือจิตใจบอบช้ำเกินกำลัง การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมองโลกในแง่ดี มีสุขภาพจิตที่ดีในการใช้ชีวิต เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราอาจจะป่วยได้ก็จริง แต่ก็ให้มันเหมาะสมแก่เหตุบ้าง มิใช่เกิดจากการปล่อยปละละเลยหรือใช้ชีวิตไปในวิถีที่มุ่งสู่เตียงพยาบาลตลอดเวลา


ที่สำคัญก็คือเมื่อป่วยมากๆ จนหมดปัญญาที่เราจะดูแลเยียวยาตัวเองได้ อาจต้องพาความหวังและลมหายใจทั้งหมดทั้งมวลไปฝากไว้กับใครก็ไม่รู้ที่โรงพยาบาล แม้จะได้ชื่อว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็เถอะ แต่ก็ขึ้นชื่อว่ายังเป็นคนอื่นอยู่ดี ใครจะเข้าใจและเต็มใจเยียวยาให้เราหายจากการป่วยไข้ได้อย่างที่ใจเราหวัง มิหนำซ้ำยังต้องเสียทั้งเวลาเสียทั้งเงินทองกว่าจะได้สุขภาพปกติกลับคืนมา


สู้ใช้ช่วงเวลาและลมหายใจที่ยังดีอยู่ ดูแลสุขภาพทั้งร่ายกายและจิตใจให้เข้มแข็งและแข็งแรงกันดีกว่านะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น