วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เล่าสู่กันฟัง

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดงาน  “45 นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ 45 แรงบันดาลใจ Think:Go:Ok คิด:ไป:ได้ เชิญศิษย์เก่า 45 คนที่ประสบความสำเร็จในแวดวงต่างๆ มาแชร์ประสบการณ์และแรงบันดาลใจ โดยให้เวลาพูดคนละ 5 นาที
ในฐานะศิษย์เก่า (และอยู่ในช่วงแรงบันดาลใจรุ่งริ่ง) ฉันไปร่วมฟังด้วย แม้การณ์จะกลับกลายเป็นว่าเป็นการพูดคุยเชิงแนะแนวทางการศึกษาให้กลุ่มเป้าหมายหลักของงานในวันนั้น ซึ่งก็คือนักเรียนม.ปลายที่กำลังตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนนิเทศศาสตร์หรือไม่
ลิสต์รายชื่อของศิษย์เก่าที่จะขึ้นเวทีมียาวเหยียด ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนซีไรท์ พี่ต้อ-บินหลา สันกาลาคีรี, พี่นก-นิรมล เมธีสุวกุล, พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล, ดีเจอ้อย-นภาภรณ์, ยุพา เพชรฤทธิ์, บิ๊ก-ภูมิชาย บุญสินสุข, แป้ง-ภัทรีดา ประสานทอง และครูลิลลี่ เป็นต้น
การเล่าประสบการณ์ 5 ปี 10 ปี หรือ 30-40 ปีในการทำงานในเวลาเพียง 5 นาที เป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย ความน่าสนใจจึงนอกจากจะอยู่ที่เนื้อหาที่แต่ละคนนำมาพูดแล้ว ยังอยู่ที่วิธีการและการเลือกประเด็นให้เข้มและคมอีกด้วย
ฉันอยู่ร่วมงานแค่ช่วงเช้าเท่านั้น และสรุปแง่มุมความคิดของแต่ละคนมาบอกเล่าดังนี้

พี่อ้อย-ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา มาพูดถึงงานประชาสัมพันธ์ว่า: พีอาร์เป็นงานที่ลึกซึ้ง ประณีต มองผลระยะยาว เป็นงานที่ทำไม่รู้จบ นักประชาสัมพันธ์ต้องภูมิใจในผลงานที่เผยแพร่ออกไป ไม่ใช่ภูมิใจในความดังของตัวเอง
ดีเจพี่ฉอด: สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงมือทำ ไม่ใช่การนั่งรอแรงบันดาลใจ คำว่า ไม่มีแรงบันดาลใจ อาจเป็นข้ออ้างของคนขี้เกียจ
พี่คิง-สมจริง ศรีสุภาพ: ปัญหาแก้ได้ อุปสรรคแก้ยาก อย่าคิดว่าความยากที่เราเจอเป็นอุปสรรค แต่ให้คิดว่าเป็นปัญหา เราก็จะแก้ไขมันได้ แต่ถ้าเราพลาดก็ไม่ได้แปลว่าแพ้
ยุพา เพ็ชรฤทธิ์: เวลาใครถามว่าทำงานอะไร มักตอบว่าเป็นแมสเซ็นเจอร์ ทำงานส่งสาร สื่อสารสิ่งดีๆ ให้สังคม ความสุขของแมสเซ็นเจอร์คือการได้มอบโอกาสดีๆ ให้ผู้คน
พี่ต้อ-(บินหลา) วุฒิชาติ ชุ่มสนิท: มือของนิเทศศาสตร์เป็นมือที่รุนแรง อันตราย เป็นมือที่มีพลัง
อัศศิริ ธรรมโชติ: หนังสือเป็นครูของนักเรียน    

จบการรายงานข่าวสำหรับวันนี้ฮ่ะ
จบกันดื้อๆ อย่างนี้เลย วันนี้หัวสมองดื้อมาก
:-(

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น