วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

ช้ า ใ ห้ เ ป็ น


ผมเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงาน ใช้ชีวิตและ "ติดกับ" กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์อย่างไม่ตั้งใจเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว หลังจากที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วจำต้องมุ่งหน้าต่อไปบนเส้นทางชีวิต

ตอนที่ผมยังเด็กแม่มักจะเล่าถึงเรื่อง "อ่างกะปิ" ที่กรุงเทพฯ ให้ฟัง ซึ่งผมเองจำรายละเอียดเรื่องเล่านี้ของแม่ไม่ได้แล้ว จำได้เพียงแต่ว่า กลัวอ่างกะปิและคำขู่จากเรื่องเล่านี้มากๆ ว่า "ระวังไปตกอ่างกะปิที่กรุงเทพฯ"

แม่ผมเองสังเกตและเคยออกปากให้ฟังว่าคนกรุงเทพฯ มักจะชอบเดินกันเร็วๆ และเคยถามผมว่าเดี๋ยวนี้เดินเหินเป็นไง เดินเร็วๆ เหมือนคนกรุงเทพฯ แล้วหรือไม่ ขณะที่ผมเองไม่ทันสังเกตเรื่องนี้แต่ก็เห็นด้วยกับแม่เป็นอย่างยิ่งว่าคนกรุงเทพฯ เดินกันไวจริงๆ เดินไวอย่างรีบเร่ง (คนต่างจังหวัดคงจะทักใครก็ตามที่มีลีลาเดินอย่างนี้ว่า "เดินไวยังกะจะไปตามควาย") และไม่เพียงแต่คนกรุงเทพฯ หรอกที่เดินช้าๆ กันไม่เป็น คนฮ่องกง คนลอนดอน คนเมืองใหญ่ๆ หลายที่ที่ผมเคยไปเห็นต่างก็เดินไวเหมือนจะไปตามควายเหมือนกันทั้งนั้น

ยามเช้าๆ ที่ผมเดินจากบ้านระยะทางไม่กี่ร้อยเมตรเพื่อไปสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น ผมต้องเดินแข่งกับมนุษย์งานคนอื่นๆ ขนาดที่ว่าจะไม่รีบเร่งและค่อยๆ เดิน เดินทีละก้าวๆ เรื่อยๆ แต่พอมีใครมาทำท่าเดินเร็วและเดินแซงหน้าเราขึ้นไป เราก็อดจะเร่งเครื่อง ก้าวเท้าให้เร็วขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ (นี่เองที่เป็นสัญชาตญาณของการแข่งขันในตัวคนเรา)

ยิ่งพอเข้าสู่ตัวสถานีก่อนเข้าสู่จุดตรวจเช็คสัมภาระ ยิ่งเห็นลีลาเร่งรีบกรูเกรียวและเบียดแซงกันเป็นพัลวัน เสียงฝึเท้าของผู้คนกระแทกกระเทือนพื้นราวกับเสียงเหล่าอาชาในสมรภูมิก็ไม่ปาน

หลายๆ สิ่งในโลกยุคใหม่ตลอดจนสิ่งเอื้ออำนวยความสะดวกในชีวิตที่เราเปิดรับ โดยเฉพาะสื่ออิเล็กทรอนิกส์และดิจิตัล เป็นสิ่งบ่งบอกว่าโลกของเราอยู่ในฝีเท้าของความรีบเร่ง ทุกอย่างเน้นความไวความเร็วและการแข่งขัน ใครเดินไวกว่าถึงจุดหมายได้เร็วกว่า ฉกฉวยและกอบกำได้มากกว่า ส่วนจะสิ้นไร้เรี่ยวแรงเพราะการเดินไวๆ หรือวิ่งตามนั้น ไม่ค่อยมีใครสนใจ

ผมเองกลับสนใจเรื่องความงดงามของความเชื่องช้ามาโดยตลอด...

อย่าลืมนะครับว่าสุภาษิตสำนวนไทยของเราเองก็เกาะเกี่ยวกับคุณประโยชน์หรือการค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำสิ่งต่างๆ มาโดยตลอด

ลองดูสำนวนนี่สิครับ "ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม" หรือ "อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า" "น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ" ไปจนถึง "ชิงสุกก่อนห่าม"

คนไทยในอดีตคงมีเรื่องเล่าเตือนใจถึงการเร่งรีบเดินไวแล้วไปตก "อ่างกะปิ" เล่าสู่กันฟัง จนทำให้ต้องค่อยๆ เคลื่อน ค่อยๆ คิดจนเป็นวิสัย ซึ่งไม่ถูกใจและจริตคนรุ่นใหม่ในยุค Materialism และค่านิยมของการเป็นผู้ชนะเพราะการก้าวบันไดไปได้สูงกว่าและเร็วกว่า

Take It Slow เป็นชื่อเรื่องหลักที่ "คิด" Creative Thailand นิตยสารแจกฟรีของ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบนำเสนอออกมา (http://www.creativethailand.org/) ในฉบับเดือนเมษายนที่ผ่านมานี่เอง

เรื่องที่ "คิด" นำเสนอก็คือคุณค่าของการรอ ความงดงามของความเชื่องช้า และคำว่า Slow...Slow ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Slow Life Slow City Slow Food หรือกระทั่งแนวคิดเพื่อการทำให้ชีวิตช้าลงอย่างการงดจับจ่าย (Buy Nothing Day) ซึ่งทำให้ผมสนุกอ่านและชื่นชอบ "คิด" มากขึ้นกว่าเล่มอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่เคยอ่านมา (แต่ขอสนับสนุนให้ทำต่อไปและทำเรื่องสนุกๆ น่าอ่านมากขึ้นนะครับ)

ผมเปิดหน้าที่สามของ "คิด" ขึ้นมาก็จะเจอประโยคนี้ปูเต็มหน้าเอาไว้ "THERE IS MORE TO LIFE THAN INCREASING ITS SPEED" ซึ่งเป็นคำกล่าวของมหาบุรุษนามว่า "มหาตมะ คานธี ซึ่ง "คิด" แปลไว้ว่า "ชีวิตยังมีอะไรอีกมากมาย นอกเหนือจากการเร่งจังหวะให้กับมัน"

 พอเห็นคำว่า SPEED ในคำกล่าวนี้ของมหาตมะ คานธี ผมก็นึกไปถึงคำว่า SPEED ของชีวิตหรือ SPEED ของเมือง ที่เรามักจะรู้สึกได้ว่าเมืองเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลความศิวิไลซ์อย่างกรุงเทพฯ ฮ่องกงหรือลอนดอน หรือเมืองใหญ่อื่นๆ แต่เป็นเมืองอย่างปาย เชียงคาน หลวงพระบาง หรือซาปา (เวียดนาม) เลห์ (ลาดัค) มักจะเป็นเมืองที่มี SPEED ของเวลาและลีลาของชีวิตที่เชื่องช้าอย่างน่าชม และกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจให้คนเมืองผู้เดินไวในชีวิตประจำวันอยากจะผันตัวเองไป visit และเลื่อยไหลไปกับจังหวะเวลาและชีวิตช้าๆ ของเมืองน่าอยู่น่าเที่ยวเหล่านี้

เคยสังเกตเห็นกันไหมครับว่า คำว่า SPEED นั้น ประกอบด้วยตัวหนังสือชุดเดียวกันกับคำคำหนึ่งคือคำว่า DEEP เพียงแต่สลับตำแหน่งกันแค่นั้น

SPEED คือการเร่งความเร็วแล้วทำให้เราพร่ามัว เดินผ่านหรือหลงลืมสิ่งต่างๆ
แต่หากช้าลง ตัดบางสิ่งบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไปและลองกลับมุมคิด สลับสับเปลี่ยนความมักคุ้นที่เคยทำแต่ละวันอย่างรวดเร็วดูบ้าง คำว่า SPEED ก็อาจจะมีความหมายกลายเป็นคำว่า DEEP หรือลึกซึ้งขึ้นมาได้เหมือนกัน

ลองถามตัวเองดูนะครับว่าตอนนี้คุณเองใช้ชีวิตเกียร์ไหนอยู่...

ขอบคุณภาพประกอบทั้งหมดจากนิตยสารคิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น